แหล่งทุน

เกษตรอินทรีย์และอาหารปลอดภัยต่างกันอย่างไร


            คุณแม่บ้านไปจ่ายตลาดอาจมีข้อสงสัยว่าผัก-ผลไม้ที่ซื้อจะปลอดภัยสำหรับคนในครอบครัวหรือไม่  เมื่อไม่ได้ปลูกเองก็ต้องเลือกซื้อสินค้าจากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ  ดังนั้น เรามาเรียนรู้ระดับความปลอดภัยจากมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และอาหารปลอดภัยกันดีกว่า ว่ามีความแตกตางกันอย่างไรเพราะจะปลอดภัยหรือไม่ลอดภัยอยู่ที่ผู้ผลิต

ความตื่นตัวในเรื่องสุขภาพทำให้เกิดการส่งเสริมเกษตรกรผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทั้งด้านตัวสินค้าเกษตรและกระบวนการผลิต
ซึ่งในด้านกระบวนการผลิตพิจารณาได้จากการผลิตการเกษตรที่ดี(Good Agriculture Practice) การแปรรูปที่ดี (Good Manufacturing Practice : GMP) สินค้าที่ปลอดภัย Quality : Q)  

สำหรับผู้บริโภคหากต้องการทราบว่าพืชผักผลไม้นั้นมีความปลอดภัยในระดับใด  การพิจารณากระบวนการผลิตอาจเป็นไปได้ยากเนื่องจากมีมาตรฐานและตรารับรองมากมายจนทำให้สับสนและยากต่อความเข้าใจทางด้านเทคนิก (เชื่อว่าผู้เกี่ยวข้องเองก็อาจสับสนเช่นกัน)  ดังนั้น เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจสามารถพิจารณาจากตราสัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่บนบรรจุภัณฑ์ของสินค้าเกษตรนั้นๆ แยกออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่  
·      สินค้าที่ปลอดภัย ( Quality ) เน้นเรื่องความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ประกอบด้วย สินค้าปลอดภัยจากสารพิษ และสินค้าเกษตรดีที่เหมาะสม  
·      สินค้าอินทรีย์ ( Organic ) เน้นเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย เกษตรอินทรีย์ , เกษตรธรรมชาติ , กสิกรรมไร้สารพิษ  



สินค้าที่ปลอดภัย ( Quality )
-  ปลอดภัยจากสารพิษและผักอนามัย สามารถใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชและใช้ปุ๋ยในการบำรุงพืชให้เจริญเติบโต  ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวมีสารเคมีตกค้างได้แต่ต้องไม่เกินปริมาณที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 163 พ.ศ.2538 ลงวันที่ 28 เมษายน 2538  เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง
-  เกษตรดีที่เหมาะสม หรือ GAP  ย่อมาจาก  Good  Agricultural  Practice เป็นแนวทางการทำเกษตรกรรมเพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพดี ตรงตามมาตรฐานที่กำหนด  ผลผลิตสูงคุ้มค่ากับการลงทุน  กระบวนการผลิตปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค การตรวจประเมิน และรับรองระบบการจัดการโดยกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อย่างน้อย 8 ปัจจัย คือ
  แหล่งน้ำ
  พื้นที่ปลูก
  การใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร
  การเก็บรักษาและขนย้ายผลผลิตภายในแปลง
  การบันทึกข้อมูล
  การผลิตให้ปลอดจากศัตรูพืช
  การจัดกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้ผลิตผลคุณภาพ
  การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

สินค้าอินทรีย์ ( Organic : grown without using chemicals  )
- เกษตรอินทรีย์ หรือ  ออร์แกนิก นิยามจะแตกต่างไปตามผู้กำหนดมาตรฐานของแต่ละประเทศ  แต่จะมีสิ่งที่คล้ายคลึงกัน คือ จะไม่ใช่สารเคมีใดๆทั้งสิ้น เป็นการปลูกพืชผักด้วยหลักธรรมชาติ  จึงไม่มีสารปนเปื้อนต่อดิน น้ำ อากาศ และสิ่งแวดล้อม ตามหลักสากลแล้วยังต้องคำนึงถึงดินที่ปลูก ต้องพักดิน โดยไม่ใช้สารเคมีเกิน 5 ปี พื้นที่ปลูก และแหล่งนํ้าต้องไม่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม อีกทั้งยังรวมถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว และเก็บรักษา ต้องไม่มีสารเคมีด้วย การไม่ใช้สารเคมีหรือสารสังเคราะห์ใดๆ ทำให้ไม่มีสารตกค้าในผลผลิต  นับว่าปลอดภัยที่สุดต่อสุขภาพของผู้บริโภคและผู้ผลิต
- เกษตรธรรมชาติ ( Natural farming) คือ การทำการเกษตรที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรทุกชนิด  ตลอดจนไม่ใช้สิ่งขับถ่ายจากมนุษย์  หลักการของเกษตรธรรมชาติ  คือ การทำให้ดินแสดงศักยภาพอันยอดเยี่ยมได้อย่างเต็มที่ , การใช้ศักยภาพของดินอย่างเต็มที่  คือ การรักษาดินให้สะอาดอย่างถึงที่สุด โดยไม่ใส่สิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ อย่างเช่นปุ๋ยที่ผลิตขึ้นจากมนุษย์ ดินก็จะไม่มีสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอุปสรรคขัดขวาง  ทำให้ดินแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างแท้จริง  ภายใต้หลักการพื้นฐานของเกษตรธรรมชาติคือการเคารพธรรมชาติ   ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของท่านมาซาโนบุ ฟูกูโอกะ (Masanobu Fukuoka) ชาวญี่ปุ่น ปรามาจารย์ที่เป็นผู้คิดค้นเกษตรธรรมชาติ ซึ่งมีอยู่ 5 ประการ คือ ไม่ไถพรวน ไม่ใส่ปุ๋ย ไม่กำจัดวัชพืช ไม่กำจัดแมลงและศัตรูพืช และไม่ตัดแต่งกิ่งไม้
 - กสิกรรมไร้สารพิษ โครงการเกษตรกรรมไร้สารพิษอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปัจจุบันมีเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอวังน้ำเขียว สีคิ้ว ขามทะเลสอ และครบุรี จังหวัดนครราชสีมา โครงการแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2541 จากการรวมกลุ่มของเกษตรกรในอำเภอวังน้ำเขียว ที่ทราบถึง ผลกระทบในการใช้สารเคมีหรือสารพิษในการทำการเกษตร ก่อนได้รับพระมหากรุณาธิคุณรับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ


หากยากจะเลือกซื้อสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐานด้วยเหตุผลใดก็ตาม  เพื่อความไม่ประมาทก่อนบริโภคทุกครั้งควรล้างให้สะอาดเพื่อช่วยลดปริมาณสารพิษตกค้างลงได้บ้าง  ลดได้มากเท่าไหร่ชีวิตเราก็จะลดความเสี่ยงจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆได้มากเท่านั้น